
น้ำมันถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมากต่อทุกชาติ เนื่องจากเป็นทรัพยากรที่จะส่งต่อให้เกิดพลังงานในประเทศได้ง่ายที่สุด ทั้งพลังงานไฟฟ้า และ พลังงานจุดระเบิดของรถยนต์ กว่าจะมาเป็นน้ำมันที่เราใช้กันต้นกำเนิดก็คือการเอาน้ำมันดิบขึ้นมาจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ แล้วน้ำมันดิบเอามาจากไหน ทำอย่างไร เรามีคำตอบเป็นเรื่องเล่าขั้นตอนกว่าจะมาเป็นน้ำมันดิบมาเล่าให้ฟัง แต่เราจะเล่าเฉพาะแหล่งขุดเจาะบนบกก็แล้วกัน
การสังเกตพื้นที่น้ำมันดิบ
แต่เดิมเชื่อหรือไม่ว่า การสังเกตว่ามีน้ำมันดิบอยู่ในใต้ดินตรงไหนก็ตาม เค้าจะใช้การสำรวจว่ามีพื้นที่ไหนมีน้ำมันดิบผุดขึ้นมาบนผิวดินบ้าง ยิ่งน้ำมันดิบยังเป็นของที่ดูเป็นสิ่งอัปมงคลด้วยแล้ว(น้ำมันสีดำ) ยิ่งทำให้พื้นที่นั้นจะได้รับการกล่าวถึงง่ายขึ้น แต่การใช้วิธีการนี้สังเกต สำรวจน้ำมันดิบใต้ดินเป็นวิธีการที่ยากมาก เนื่องจากกว่าน้ำมันดิบจะผุดขึ้นมาบนผิวดินได้ต้องใช้จังหวะ เวลา โอกาส ที่ยากมาก กว่าจะหาเจอคงไม่ทันต่อการใช้งานพอดี เลยมีการออกสำรวจแหล่งน้ำมันดิบใต้ดินแบบจริงจังตามขั้นตอนดังนี้
การสำรวจทางธรณีวิทยา
ทีนี้การสำรวจแหล่งน้ำมันดิบใต้ดินในปัจจุบัน แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นการสำรวจทางธรณีวิทยา การสำรวจหัวข้อนี้ก็คือ การสำรวจสภาพพื้นที่โดยรอบจนถึงใกล้เคียง ว่ามีสภาพเป็นอย่างไร โดยการสำรวจวิธีนี้จะสำรวจทั้งภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อประเมินสภาพโดยรอบ หรือ ภาพถ่ายเจาะลงไปใต้ดิน จากนั้นไปลงภาคสนามตรวจสอบดิน หิน สภาพแวดล้อมบริเวณนั้นด้วยตาตัวเอง มีการเก็บดิน หิน บางส่วนเพื่อไปประเมินอายุหิน ประเมินทางเคมีเพื่อมองหาและวิเคราะห์ว่าชั้นใต้ดินลึกลงไปมีแนวโน้มจะมีแหล่งน้ำมันดิบซ่อนอยู่หรือไม่ วิเคราะห์หินเพื่อตรวจสอบประเมินทางกายภาพว่าหากขุดเจาะจะทำได้ไหมอย่างไร หากเจอหินที่มีแนวโมว่าเป็นหินต้นกำเนิดปิโตรเลียม หินเก็บกักปิโตรเลียม ก็จะเข้าสู่การสำรวจแบบขึ้นที่สอง
การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์
เมื่อค้นพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะมีแหล่งน้ำมันดิบใต้ดิน เราก็จะเข้าสู่เฟสที่สองของการสำรวจนั่นคือ การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ ขั้นตอนนี้เรามีเป้าหมายว่าจะตรวจสอบชั้นดิน ชั้นหินแต่ละชั้นว่าเป็นอย่างไร มีสภาพอย่างไร ทั้งขนาด ความกว้าง ความลึกของชั้นหินแต่ละชั้น เพื่อวางแผนขุดเจาะต่อไป วิธีการสำรวจแบบนี้จะใช้การตรวจวัดค่าความเข้มสนามแม่เหล็กโลก, ตรวจวัดค่าความโน้มถ่วง และ การตรวจวัดคลื่นไหวสั่นสะเทือนของชั้นหิน ผลการตรวจทั้งหมดจะทำให้เราได้ข้อมูลของน้ำมันดิบที่อยู่ด้านล่าง ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรเป็นแอ่ง เป็นหลุม ขนาดเท่าไร พอได้ข้อมูลพร้อมกับประเมินว่าปริมาณน้ำมันดิบที่ได้นั้นมากพอสำหรับการลงทุนขุดเจาะ ก็จะเข้าสู่เฟสที่สาม
การขุดเจาะสำรวจ
หลังจากได้ข้อมูลจากการสำรวจทั้งสองขั้นตอน ข้อมูลดังกล่าวจะนำมาสู่การออกแบบเพื่อเจาะสำรวจจริง ซึ่งการเจาะสำรวจในช่วงแรกนั้นจะเป็นการเจาะเพื่อเช็คว่ามีน้ำมันดิบจริง ค้นหาหลงรอยจากการสำรวจว่ามีเส้นทางปิโตรเลียมอยู่ตรงไหนบ้าง นอกจากจะมองหาแหล่งปิโตรเลียมแล้ว พวกเค้าจะต้องมีการสำรวจความพรุนของหิน การไหลซึมผ่านเนื้อหินอีกด้วย เมื่อเจอแหล่งปิโตรเลียมตามต้องการแล้วก็จะมีการประเมินถึงปริมาณปิโตรเลียม การไหล การนำขึ้นมาใช้ คุณภาพของน้ำมันดิบ ฯลฯ แล้วประเมินอีกครั้งว่าจะติดตั้งแท่นขุดน้ำมันดิบเพื่อนำน้ำมันดิบขึ้นมาหรือไม่
หลังจากประเมินทั้งหมด แล้วพบว่าแหล่งน้ำมันดิบดังกล่าวพร้อมสำหรับการใช้งาน ก็จะติดตั้งแท่นขุดเพื่อดึงน้ำมันดิบขึ้นมาใช้งานต่อไป นี่แหละคือขั้นตอนการหา การสำรวจน้ำมันดิบที่เราใช้กันในปัจจุบันนี้ สำหรับแหล่งค้นหาบนบก